คุณสมบัติกับสรรพคุณของขมิ้นชัน
ขมิ้นชันมีสารประกอบทางเคมีที่สำคัญอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (Curcuminoids) ได้แก่ Curcumin, monodesmethoxycurcumin และ bisdesmethoxycurcumin และกลุ่มที่ 2 คือน้ำมันระเหยง่าย (Volatile oil) มีสีเหลืองอ่อน มีสารสำคัญ คือ Monoterpenoids และ Sesquiterpenoids ที่เป็นส่วนประกอบของยารักษาอาการหลายชนิด ทั้งนี้ สรรพคุณการรักษาของขมิ้นชันมีหลายประการ ได้แก่
เสริมภูมิคุ้มกัน
เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ด้วยสารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ในขมิ้นชัน มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันผ่านแอนติบอดี้ให้สามารถต่อสู้กับแอนติเจนที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนัง การหายใจ และระบบทางเดินอาหาร
ลดไข้ ต้านไวรัส
ขมิ้นชันช่วยป้องกันและยับยั้งไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ในระบบหายใจและผิวหนัง ลดการคัดจมูก และผดผื่นแบบไม่รุนแรงได้ ทั้งยังสามารถลดไข้ได้ด้วย
ต้านการอักเสบ ลดปวดไขข้อ
สรรพคุณของสารเคอร์คิวมินในขมิ้นชันช่วยลดการอักเสบและสารเคอร์คิวมินอย ช่วยลดการเจ็บปวด โดยเฉพาะข้อเข่าเสื่อม เก๊าท์ และรูมาตอยด์ ซึ่งการระงับความปวดนั้นเทียบเท่ากับการใช้ยาไอโพรบูเฟนเลยทีเดียว
ล้างพิษตับ
ขมิ้นชันมีสรรพคุณที่ดีในการล้างตับ เนื่องจากเคอร์คิวมิน (Curcumin) ทำหน้าที่ในการลดไขมันพอกตับ ลดการเกิดพังผืดในตับ ป้องกันอาการตับแข็ง ยับยั้งการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ฟื้นฟูเซลล์ตับจากสารพิษตกค้างในยา
รักษาโรคผิวหนัง บำรุงผิว
สารเคอร์คิวมินในขมิ้นชันช่วยยับยั้งการอักเสบของร่างกาย จึงช่วยลดอาการคันบนผิวหนังได้ ตามภูมิปัญญาของคนไทยโบราณใช้ขมิ้นชันเพื่อช่วยลดอาการเกี่ยวกับผิวหนังกลาก เกลื้อน โดยการใช้ขมิ้นชันทั้งแบบเหง้าสดโขลกละเอียดและแบบตากแห้งบดเป็นผงผสมน้ำ ทาไว้บริเวณผิวหนังที่เป็นกลากเกลื้อนทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หรืออาจบดเป็นผง แล้วนำมาขัดพอกผิวเพื่อให้ผิวนุ่มนวล กระจ่างใส สุขภาพผิวแข็งแรง
แก้ท้องร่วง
ขมิ้นชันช่วยต่อต้านแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร จึงรักษาอาการท้องร่วงได้ เป็นยารักษาที่หาได้ใกล้ตัว เพียงนำขมิ้นชันไปหั่น แล้วตำผสมน้ำเปล่า คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ จะช่วยให้อาการท้องร่วงดีขึ้น
ช่วยขับลม ลดการจุกเสียด แน่นท้อง
เนื่องจากในขมิ้นชันมีสารที่ช่วยเพิ่มเอนไซม์ในการย่อยได้ จึงเป็นสมุนไพรไทยที่สามารถขับลม ลดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้เมื่อนำมาผ่านความร้อน หรือปรุงในอาหาร
รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
ขมิ้นชันสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วยการหลั่งสารมิวซิน ช่วยให้เกิดการเคลือบกระเพาะอาหารและป้องกันกรด พร้อมทั้งยังช่วยยับยั้งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารด้วย จึงเป็นการป้องกันและรักษากระเพาะอาหารได้อย่างดีทีเดียว
ช่วยชะลอวัย ต้านอนุมูลอิสระ
คุณประโยชน์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของขมิ้นชัน คือ การต้านอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง เบาหวาน อัลไซเมอร์ และอื่นๆ ขมิ้นชันมีสรรพคุณชะลอวัยในแง่ของการลดการอักเสบ เพิ่มเอนไซม์กระตุ้นการกำจัดอนุมูลอิสระในเลือด
รักษาริดสีดวง
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคและลดการอักเสบ จึงนำมาใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร โดยการนำผงชมิ้นชันมาทาบริเวณหัวริดสีดวง จะช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น และยังมีสรรพคุณในการสมานแผลอีกด้วย
แก้พิษแมลง กัด ต่อย
เมื่อเป็นแผลรอยแดงจากการโดนพิษของแมลงกัดต่อย สามารถใช้ชมิ้นชันช่วยบรรเทาอาการได้ โดยการนำผงชมิ้นชันเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวจนกลายเป็นยาทาสำหรับรักษาแผล หรือนำผงชมิ้นชันไปแช่ผสมกับน้ำปูนใสมาพอกบริเวณแผลก็ได้เช่นกัน
ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด
ขมิ้นชันมีสารไฟโตสเตอรอล ซึ่งมีสรรพคุณช่วยยับยั้งคอเลสเตอรอล พร้อมทั้งมีฤทธิ์ในการลดไขมันในเส้นเลือด เมื่อระดับไขมันในเส้นเลือดลดลง จึงสามารถป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันและโรคหัวใจได้
ลดการแข็งตัวของเลือด
ฤทธิ์จากสารในขมิ้นชัน สามารถช่วยลดการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเป็นสรรพคุณสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวานได้
วิธีรับประทานขมิ้นชัน
การกินขมิ้นชันตามช่วงเวลา สามารถบำรุงร่างกายได้ตามการทำงานของร่างกาย ดังนี้
ลดภูมิแพ้ บำรุงปอด ควรกินขมิ้นชันช่วง 03.00-05.00 น.
แก้ท้องผูก ป้องกันโรคริดสีดวงทวารและมะเร็งลำไส้ ควรกินขมิ้นชันช่วง 05.00-07.00 น.
ลดท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยบำรุงระบบทางเดินอาหาร ควรกินขมิ้นชันช่วง 07.00-09.00 น.
ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน ควรกินขมิ้นชันช่วง 09.00-11.00 น.
บำรุงหัวใจและหลอดเลือด ควรกินขมิ้นชันช่วง 11.00-13.00 น.
ทั้งนี้ การรับประทานขมิ้นชัน โดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 วิธี คือ การรับประทานเหง้าสด การรับประทานแบบแคปซูล และการรับประทานแบบผงสกัดชงดื่ม
กินสด
ขมิ้นชันที่เหมาะกับจะนำมากินสดจะต้องเป็นขมิ้นชันที่อายุ 9 -12 เดือน เก็บเกี่ยวในช่วงที่เหง้ายังไม่แตกหน่อ เพราะจะยังคงสารเคอร์คิวมินได้เต็มที่ สำหรับการเก็บรักษาเหง้าขมิ้นควรจะเก็บไว้ในที่ไม่มีแสงแดด และไม่เก็บไว้นานเกินไป เพราะจะทำให้น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชันหมดไป
แบบแคปซูล
การกินขมิ้นชันในรูปแบบแคปซูลเป็นวิธีที่ง่ายและทำให้ได้รับปริมาณขมิ้นชันที่แน่นอน ผู้กินสามารถทราบถึงปริมาณการกินที่เหมาะสมกับตนเองได้
โดยทั่วไปในแคปซูลจะบรรจุด้านในแบบขิ้นชันแบบผง 250-400 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้ โดยส่วนใหญ่จะกินเพื่อช่วยขับลม บรรเทาอาการแน่น จุกเสียด ท้องเฟ้อ เป็นต้น ปริมาณการกิน คือ 2-4 แคปซูล 4 เวลา หลังอาหาร และก่อนนอน
ผงสกัดชงดื่ม
ขมิ้นชันแบบผงสกัดชงดื่ม มีทั้งแบบผงสำหรับชงดื่มและแบบเม็ดฟู่ละลายน้ำดื่ม ซึ่งจะเป็นกรรมวิธีที่มีการสกัดเอาสารเคอร์คิวมินอยด์ไว้ในตัวผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่เหมาะสม ขมิ้นชันแบบผงสกัดนี้จะยิ่งดื่มง่ายเพราะไม่มีกลิ่นรุนแรง และเมื่ออยู่ในรูปแบบที่ละลายน้ำ ก็ยิ่งทำให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น
อ้างอิง : www.saithongherb.com